ของเราเอง  โดยที่บทเพลงของสถาบันอื่นๆ  เป็นที่นิยมขับร้องกันอยู่ทั่วไป   แต่ภายหลังที่งานรับน้องใหม่รุ่น 6  เสร็จสิ้นลง   ได้มีนักศึกษารุ่น 6 นี้ 12 คนรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มขึ้น   ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสถาบันฯ  โดยใช้ชงโคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม (ต่อมาได้ยึดถือเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์)มีชื่อเรียกนักศึกษากลุ่มนี้ว่า “ทีมชงโค” บุรุษทั้ง 12 ที่รวมกันเป็นทีมชงโคปรากฏนามดังนี้

     1. อรุณ   ศรีเสาร์

     2. อุทัย  ศรีธีระวิโรจน์

     3. สุวัฒน์ รัตนพิบูลย์เดช

     4. สุวพันธ์   จิตต์ผลา

     5. สุรพรรณ  ชาญณรงค์

     6. สุพจน์   ดำหริใจ

     7. สุดจิตร   ตั้งเซียน

     8. สุนทร  จุลคณานุกิจ

     9. วิวัฒน์   กิรานนท์

     10. วินัย    แทนสถิต

     11. รุ่งพันธ์  จันทวี

     12. พินิจ   จำเนียร

ความหลากหลายในรูปแบบต่างๆย่อมมีอยู่ในทีมชงโค  โดยกาลเวลาในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า  กลุ่มนี้มีทั้งผู้ว้าวุ่น  ผู้เฉยเฉื่อย  ผู้มากเสน่ห์  ผู้สงบเสงี่ยม  อีกทั้งผู้ยอดเยี่ยมในวิชาการ  สิ่งหลากหลายเหล่านี้ได้ผสมผสานอยู่ในทีมชงโค  ด้วยน้ำใจรักสามัคคี  แม้จะมีผู้ร่วมทีมบางคนคือ  อรุณ  ศรีเสาร์  ได้ล่วงลับจากไปอย่างไม่มีวันกลับ  แต่ความมั่นคง จริงใจของเขามิได้ลบเลือนจากใจของสหายร่วมทีมแต่อย่างไร

 

       การรวมกลุ่มเป็นทีมชงโคเป็นจุดหนึ่ง  ที่ทำให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆ  รวมถึงความเร่งเร้าให้แก่สมาชิกในทีม ในการที่จะสรรค์สร้างบทเพลงออกมาร่ำร้องยามรื่นเริง  เวลานั้นดูเหมือนว่ายังขาดไร้แก่นวัตถุที่จะนำมาประสานให้เป็นบทเพลง  เมื่อมองขึ้นไปบนแผ่นฟ้าหากไม่พบเดือนหรือตะวันก็คงเห็นแต่ความเด่นสง่าของยอดเสาโทรฯ มองลงมาบนพื้นดินก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นดินเต็มผืน  หากแต่ยังมีร่มเงาของต้นชงโคเรียงรายชูช่อดอกสีแดงอมม่วง งามไสวเมื่อยามต้นฤดูหนาว  และฤดูหนาวที่เยือนมาพร้อมกับความสะพรั่งงามของดอกชงโคในปี 2510 นี้เอง  นักศึกษารุ่น 4 และรุ่น 5 จะพาน้องใหม่รุ่น 6 ไปแข่งกีฬากับวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน(หรือมหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน)และเที่ยวทะเล   ทะเลที่เหลือคณาด้วยน้ำ  เฉกเช่นน้ำใจที่มากหลายของพวกเรา

      ก่อนเดินทางไปเที่ยวทะเลบางแสน 2 ประมาณสัปดาห์ สุรพรรณ  ชาญณรงค์  สมาชิกผู้หนึ่งของทีมชงโค  ได้เก็บสิ่งแฝงเร้นในสถาบันฯ  รายเรียงเป็นเพลงร่มรั้วชงโคแล้วนำมาขับร้องกันในกลุ่มของทีมชงโค

      วิถีก้าวแรกของเพลงร่มรั้วชงโคเริ่มจากการนำไปร้องของทีมชงโคระหว่างเดินทางไปเที่ยวทะเลบางแสนกับนักศึกษารุ่นพี่  เพลงๆนี้ได้ถูกขอให้ร้องแล้งร้องอีกหลายครั้งเป็นที่ชื่นชอบของนักศึกษาทั้งหมดที่เดินทางไปคราวนั้น   ความสำเร็จของเพลงนี้เกิดขึ้นจากการยอมรับของมวลหมู่นักศึกษาในขณะนั้น  และเมื่อนักศึกษารุ่น 5 ได้จัดให้มีการแสดงดนตรีและภาพยนตร์เรื่อง ฮันซูหยิน  ที่โรงภาพยนต์เพชรรามา  ก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ของปี 2510  ด้วยน้ำใจและความพากเพียรของศิษย์รุ่น 5  เพลงนี้จึงได้ร้องบรรเลงประกอบเสียง